วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Thai Tattoo_สักยันต์

การสักยันต์

   การ  "สัก"  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ. 2525 กล่าวว่า  "สัก" คือการเอา เหล็กแหลมจุ้มหมึก หรือน้ำมันงาผสมว่าน 108 ชนิดแทงลงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมาย หรือลวดลาย
   การสัก ถือเป็นประเพณีดั้งเดิมของไทย พบว่า ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ มักมีลายสักที่หน้าอกหรือแผ่นหลังตามสมัยนิยม จนเกิดผู้ชำนาญการสักของแต่ละท้องถิ่น ทำหน้าที่สืบทอดลายยันต์อักษรโบราณ รวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นลายยันต์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ในการสักและสืบทอดลายยันต์เหล่านี้มีทั้ง พระสงฆ์ และฆราวาส
   การสักที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ไทยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ 
     1. การสักที่สืบทอดมาจากการจัดระเบียบการปกครอง
             ตัวอย่างที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

                 " นักประวัติศาสตร์ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตแบบไทยๆ คงจะทราบความจริงว่า ข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับ"    ซึ่งในที่นี้หมายถึง แผนกทะเบียน ซึ่งจะเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชายไทยในขณะนั้น  จากหลักฐานที่ปรากฏอาจคาดเดาได้ว่าการสักเป็นไปตามการแบ่งส่วนการปกครองในสังคมราชการ การสักเครื่องหมายลงบนร่างกาย อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ( พ.ศ. 1991-2031 )
      2.การสักที่เกี่ยวกับความเชื่อ 
            ในการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ด้วยความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของจิตใจและความเชื่อเรื่องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งความเชื่อนี้เกิดเป็นประเพณีนิยม การสักดังกล่าวนี้มีลักษณะที่สอดแทรกไว้ด้วยความเชื่อและพิธีกรรม  เช่น การทำพิธีไหว้ครูก่อนการสัก, การร่ายเวทมนตร์คาถาก่อนจนถึงเมื่อสักเสร็จฯ
            การสักในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่จะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐาณแน่ชัด แต่ในการสักยันต์ตามความเชื่อเรื่องการอยู่ยงคงกระพันนั้นเชื่อว่ามีมานานแล้ว ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนฯ 
      
     ทัศนคติที่มีต่อการสักในช่วงหนึ่งของสังคมไทยโบราณ มองว่าเป็นเรื่องของนักเลง และถูกมองไปในทางลบ ทำให้การสักเกือบจะสูญไปจากสังคมไทย แต่เหตุผลที่ทำให้การสักยันต์ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน คือ ความเชื่อถือศรัทธา  เพราะหลายๆคนยังเชื่อว่า การสักจะทำให้มีโชค และอยู่ยงคงกระพัน พ้นอันตราย  รููปแบบการสักแต่ละชนิดจึงมีคุณลักษณะเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน เช่น การสักยันต์บางชนิด เชื่อว่าสามารถช่วยให้ผู้สักได้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยุ่งยาก. สัญลักษณ์บางอย่างของลายลีก เชื่อว่าจะช่วยให้ผิวหนังเหนียว ศัตรูยิงไม่ออก ฟันไม่เข้าฯ  นอกจากนี้ การสักทางไสยศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการระวังอันตราย และความปลอดภัย ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่างๆ  ศิลปะพื้นบ้านนี้ จึงกระตุ้นความรู้สึกของผู้คนให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่น เมื่อได้เรียนรู้และสัมผัสด้วยตนเองจึงเกิดเป็นความมั่นใจและสืบทอดกันเป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องมา
     การสัก  ลวดลายการสักของผู้สืบทอดทั้งสายพระสงฆ์ และสายฆราวาส นับจากสมัยโบราณจะมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลายเสือเผ่น,ลายหนุมาน ฯลฯ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันที่รายละเอียดในส่วนย่อย เช่น ถ้าสักลายหนุมาน รูปร่าง,โครงสร้างของหนุมานคงเดิมแต่จะต่างตรงที่รายละเอียดของนิ้วมือ นิ้วเท้า เครื่องประดับ รวมถึงอักขรคาถาที่เพิ่มเติม  
     ลายสักที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย แบ่งเป็น 2  กลุ่ม
        1.ลายสักเพื่อผลทางเมตตามหานิยม 
             นิยมสัก จิ้งจก,นกสาริกา เพื่อเป็นตัวแทนของความมีเสน่ห์เป็นที่รักของคนทั่วไป โดยเฉพาะให้ผลดีทางการเจรจา การค้าขาย ทำให้เจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น

        2.ลายสักเพื่อผลทางการอยู่ยงคงกระพัน
               นิยมสัก เสือ,หนุมาน,หงส์,สิงห์  เป็นตัวแทนของความดุร้ายปราดเปรียว ความสง่างามความกล้าหาญ
               นิยมสักลายที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันภยันตรายต่างๆ เช่น ยันต์เก้ายอด,ยันต์เกราะเพชรฯลฯ      
     
     การสักยันต์   เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยนับสมัยโบราณที่ได้รับการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน    การสักเริ่มที่ความเชื่อถือถือศรัทธาและการน้อมนำเอาแนวทางปฏิบัติที่เป็นจารีตประเพณี ทั้งเรื่องของแนวทางคำสอนทางศาสนา และประเพณีวัฒนธรรมไทยมาผสมผสานให้เกิดเป็น อักขระลายยันต์ ที่เตือนสอนใจให้ปฏิบัติตนให้เป็นคนดี เสริมสร้างกำลังใจด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าด้วยการหมั่นปฏิบัติตน